ไฟร์ฟ็อกซ์(Firefox) ยอดดาวน์โหลดทะลุ 100 ล้านครั้งแล้ว

มอสซิลล่าจัดงานใหญ่ ฉลองความสำเร็จ ” ไฟร์ฟ็อกซ์ (Firefox) “ เว็บเบราเซอร์น้องใหม่มาแรง ระบุมียอดดาวน์โหลดสูงถึงวันละ 200,000 – 300,000 ครั้งต่อวัน ขณะที่ยอดดาวน์โหลดรวมทะลุ 100 ล้านครั้งแล้ว

Mozilla Firefox 100 ล้านดาวน์โหลด

“ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก กับการได้เห็นเบราเซอร์ไฟร์ฟ็อกซ์ ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวาง” เอซา ดอทซ์เลอร์ ผู้ประสานงานของมอสซิลล่า และกลุ่ม SpreadFirefox กล่าว

 

ไฟร์ฟ็อกซ์เป็นผลงานการพัฒนาของมูลนิธิมอสซิลล่า และเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2004 จุดเด่นของโปรแกรมคือระบบซีเคียวริตี้ และความเร็วในการดาวน์โหลดเนื้อหาหน้าเว็บ การเผยแพร่ไฟร์ฟ็อกซ์ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครนับพันคน ในการประชาสัมพันธ์เว็บเบราเซอร์ดังกล่าวตามเว็บไซต์ ตลอดจนการสนับสนุนจากสื่อ และงานอภิปรายต่าง ๆ จำนวนมาก

ในงานฉลองครั้งนี้ ได้มีกลุ่มผู้ใช้ไฟร์ฟ็อกซ์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอนถือโอกาสนี้จัดทำบอลลูนที่มีชื่อว่า Firefox 1 และปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในครั้งนี้ให้กับมอสซิลล่าและทีมงานผู้พัฒนาด้วย โดยเมื่อครั้งที่ยอดการดาวน์โหลดทะลุ 50 ล้านครั้ง ทางกลุ่มก็ได้ทำแผ่นผ้าใบที่มีโลโก้ไฟร์ฟ็อกซ์ขนาด 30 ฟุตติดในโรงเรียนมาแล้วเช่นกัน

ดอทซเลอร์กล่าวว่า “เราคงมีเวลาฉลองกันแค่วันพุธนี้ เพราะในวันพฤหัสบดีเราคงต้องกลับไปพัฒนา ไฟร์ฟ็อกซ์ 1.5 ต่อไป”

แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้นำอย่าง Internet Explorer จะยังครองส่วนแบ่งตลาดเว็บเบราเซอร์อยู่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่เชื่อว่าความนิยมของไฟร์ฟ็อกซ์จะทำให้มันกลายเป็นเบราเซอร์ที่สามารถ แย่งชิงส่วนแบ่งจากไมโครซอฟท์ได้ ไม่มากก็น้อย และทำให้สมรภูมิการแข่งขันดุเดือดมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเวบเบราเซอร์จากค่ายโอเปรา ที่รั้งตำแหน่งลูกไล่ตามหลังไฟร์ฟ็อกซ์ ก็ได้ส่งเบราเซอร์เวอร์ชันไม่มีโฆษณาออกมาให้ทดลองใช้งานกับเขาด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จในครั้งนี้ของไฟร์ฟ็อกซ์ก็ยังมีอุปสรรค์อยู่ เนื่องจากมีรายงานการพบช่องโหว่ของไฟร์ฟ็อกซ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไซแมนเทค ผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ได้ตรวจสอบระบบความปลอดภัยของเว็บเบราเซอร์จากสองค่าย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2005 นั่นคือเบราเซอร์จากไมโครซอฟท์ และมอสซิลล่า พบว่าเบราเซอร์จากมอสซิลล่ามีช่องโหว่มากกว่า แต่ด้วยความเป็นโอเพ่นซอร์ส นักพัฒนาจากมอสซิลล่าจึงสามารถควบคุมดูแลช่องโหว่เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว

Updated 30 ต.ค. 2548 ไทย – โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 ตุลาคม 2548

***************

เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20081121100605/http://www.thinkandclick.com/news/firefox-1m-news103005.php )

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *