‘มีเดียอัจฉริยะ’ ธุรกิจใหม่ใต้เงาไอเน็ต

ภาพของธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือเรียกสั้นๆ ว่า ไอเอสพี ในวันนี้กำลังเปลี่ยนไป มีไอเอสพีน้อยราย ที่จะจำกัดตัวเองอยู่แค่ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว เพราะวันนี้ อินเทอร์เน็ต กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ของการต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ไอเอสพีแต่ละรายจำเป็นต้องหาความแข็งแกร่งของตัวเอง สร้างเป็นจุดขายเพิ่มเติมจากบริการอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ ‘อินเทอร์เน็ตประเทศไทย’ หรือไอเน็ต เป็นหนึ่งตัวอย่าง ของการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจไอเอสพีในอนาคตอย่างสิ้นเชิง

‘ดิจิทัล มีเดีย (Digital Media)’ กลายเป็นธุรกิจใหม่ที่ ‘ไอเน็ต’ ตั้งงบลงทุนไว้อย่างไม่จำกัด ‘โลตัส ทีวี’ (Lotus TV) สื่อโฆษณามัลติมีเดีย กลายเป็นโครงการแรกที่เกิดขึ้นภายใต้ธุรกิจใหม่นี้ ลบภาพความเป็นไอเอสพีเพียวๆ กลายเป็นภาพของเจ้าของสถานีโทรทัศน์รูปแบบใหม่ ทำหน้าที่ขายแอร์ไทม์ให้สินค้ามาเช่าใช้เพื่อการโฆษณาแทน

‘อนุรักษ์ จันทร์ร่มเย็น’ ผู้อำนวยการฝ่าย Emerging Business Strategic Business Unit (EBSBU) บริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต เล่าว่า ขณะนี้โครงสร้างธุรกิจของไอเน็ต แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และธุรกิจใหม่ๆ

โดยธุรกิจใหม่ๆ ที่ว่า ไอเน็ตเตรียมเงินลงทุนไว้แบบไม่จำกัด แล้วแต่ว่าโครงการนั้นๆ จะมีเนื้อหา รายละเอียด และความสำคัญอย่างไร มูลค่าโครงการอยู่ตั้งแต่ 10-100 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น

‘โลตัส ทีวี หรือ โฆษณาดิจิทัลผ่านจอมัลติมีเดียในแผนกต่างๆ ของห้างเทสโก้ โลตัส เป็นหนึ่งโครงการของการสร้างธุรกิจใหม่ ใต้แนวคิดของความเป็น ดิจิทัล มีเดีย ที่ผ่านมาใครๆ ก็รู้ว่าไอเน็ตมีภาพของผู้เชี่ยวชาญด้านไอที แต่ปัจจุบันไอเน็ตต้องการ diversify ออกไปหลายๆ ธุรกิจ ก็ต้องย้อนมาดูว่าไอเน็ตมีความเชี่ยวชาญในเรื่องอะไร แน่นอนเรามาจากคนไอที เป็นบริษัทไอทีจริงๆ จุดแข็งของเรา คือ เราสามารถประยุกต์เอาไอทีเข้าไปใช้ในเชิงธุรกิจได้’ อนุรักษ์ ว่า โจทย์จึงเกิดขึ้นตามมาว่า แล้วไอเน็ตควรจะทำอะไร?

‘เรามองไปที่สื่อโฆษณาอันดับแรก เพราะเห็นว่าสื่อนี้ใช้เทคโนโลยีน้อยมากในช่วงที่ผ่านมา แต่หากเราพูดถึงเทรนด์ของ ‘ดิจิทัล มีเดีย’ มันกลายเป็นเทคโนโลยีระดับโลกที่มาแรงมาก หลายประเทศทั่วโลกเริ่มนำดิจิทัล มีเดียมาใช้ ใกล้ๆ บ้านเรา อย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน บริษัทที่ทำดิจิทัล มีเดีย ของจีนเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็กเป็นที่เรียบร้อย เขาโตเร็วมาก’ อนุรักษ์ เล่า

จึงไม่แปลกที่ ‘ไอเน็ต’ ตัดสินใจเดินเข้าสู่ธุรกิจ ‘ดิจิทัล มีเดีย’ โดยใช้ความแกร่งในธุรกิจอินเทอร์เน็ตเป็นฐานราก

อนุรักษ์ บอกว่า จริงๆ แล้ว ‘ดิจิทัล มีเดีย’ ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มีคนเริ่มกรุยทางทำมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่เต็มที่นัก

‘แนวคิดของดิจิทัล มีเดียแบบไอเน็ต เราเน้นรูปแบบ install advertising เป็นสื่อโฆษณา ณ จุดขาย หมายความว่า หลังจากที่ผู้บริโภคได้รับข้อความโฆษณาจากทุกสื่อแล้ว ณ จุดขายควรมีอะไรไปช่วยตอกย้ำ หรือโฆษณาต่อได้ เราก็เอาโจทย์ข้อนี้มาตี เลยเป็นเรื่องของ install advertising แบบไฮเทค คือใช้จอพลาสมาขนาดใหญ่ ติดตั้ง ณ จุดขาย แนวคิดเรา คือ จะเน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และจะเป็นสื่อ ณ จุดขายที่ทีวีปกติไม่สามารถเข้าถึง’

จอพลาสมาที่ติดตั้งตามจุดขาย เป็นส่วนประกอบของ ‘คอมพิวเตอร์’ ในแง่ของการประมวลผลโฆษณาต่างๆ ที่ให้คนได้เห็น มีซอฟต์แวร์เป็นตัวควบคุมว่า จะยิงโฆษณาอะไร เมื่อไหร่ ส่วนรูปแบบของการโฆษณานั้นช่วงแรกก็จะเป็นภาพยนตร์โฆษณาความยาว 15-30 วินาทีปกติ

ก่อนหน้านี้ ‘ตฤณ ตัณฑเศรษฐี’ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย (INET) เล่าถึงแนวความคิดของ โลตัส ทีวี ว่า เป็นการเสนอทางเลือกทางการตลาดสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ในสภาวะตลาดยุคปัจจุบัน ที่ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคมีความจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อ

‘โลตัส ทีวี ถือเป็นสื่อโฆษณาดิจิทัล ที่มีรูปแบบการนำเสนอเนื้อหารายการที่น่าสนใจสลับกับสปอตโฆษณานำเสนอข้อมูลที่กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค ณ จุดขายสินค้าที่การซื้ออยู่ห่างแค่การหยิบสินค้ามาใส่รถเข็นเท่านั้น’

นี่เป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ แรกของเทคโนโลยีที่ไอเน็ตเข้าไปติดตั้งใน เทสโก้ โลตัส หลายๆ สาขาทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีแผนขั้นต่อไปที่จะพัฒนารูปแบบ เป็น ‘announcement board’ นั่นหมายความว่า จะมีพรีเซ็นเตอร์ปรากฏอยู่ในหน้าจอ โฆษณาสินค้าที่มีโปรโมชั่นอยู่ ณ ตอนนั้น โดยคอนเทนท์ที่ปรากฏจะเป็นเทปที่อัดไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งไอเน็ตมีแผนที่จะทำคอนเทนท์ในรูปแบบที่เป็นเรียลไทม์มากขึ้น

‘ต่อไปเราจะเริ่มพัฒนาระบบที่ลูกค้าสามารถสื่อสารได้ทั้ง 2 ทาง ยกตัวอย่าง เช่น อาจเป็นรูปแบบเอสเอ็มเอส แต่คงไม่เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง ไมนอริตี้ รีพอร์ต (Minority Report) ซึ่งจะเป็นโปรแกรมที่สามารถล่วงรู้ได้ว่า คนที่เดินผ่านไปเป็นใคร อย่างไร ยิ่งในเทสโก้ โลตัส เราคงยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ไอเน็ตก็เริ่มนำเทคโนโลยีอย่างว่าเข้ามาบ้าง แต่คงแตกต่างจากในหนัง เพราะเราคงทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าในต่างประเทศเริ่มทำ แต่มันยังติดในเรื่องความเป็นส่วนตัว ซึ่งเราก็สามารถนำมาประยุกต์ได้ คือ ตัดเรื่องของความเป็นส่วนตัวออกไป’

ดังนั้นรูปแบบที่ควรจะเป็น คือ ใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ปกติ มีจอภาพติดอยู่ เวลาคนเดินผ่านก็ส่งเสียง ในจอก็จะมีภาพของพนักงานที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับคนที่เดินซื้อของได้ ที่สำคัญในอนาคต ‘จอ’ จะเปลี่ยนเป็นแบบ ‘จอทัชสกรีน’ ลูกค้าสามารถกดทำรายการได้ที่หน้าจอ รวมทั้งพิมพ์คูปองสินค้าต่างๆ ออกมาได้ด้วย

อนุรักษ์ บอกว่า รูปแบบของดิจิทัล มีเดีย แบบนี้น่าจะได้เห็นในราวต้นปี 2549 เป็นรูปแบบที่เรียกว่า Electronic Self Service ให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้ามาร่วมสนุกกับสินค้าผ่านเครื่อง (Machine) แทนที่จะผ่านคน มีแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา เช่น ลูกค้าที่เปิดสัญญาณบลูทูธเอาไว้ที่โทรศัพท์มือถือ เวลาเดินผ่านหน้าจอ ก็สามารถเรียกข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่โทรศัพท์มือถือได้ทันที

ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นคอนซูเมอร์ โปรดักท์ เข้ามาติดต่อที่จะใช้บริการ ‘ดิจิทัล มีเดีย’ ของไอเน็ตแล้วราว 4-5 ราย มีอัตราค่าแอร์ไทม์ที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงเวลา

สปอตโฆษณาของ ‘โลตัส ทีวี’ จะออกอากาศซ้ำกันทุกๆ ชั่วโมง มีหลายแพ็คเกจให้ลูกค้าได้เลือก ไม่ว่าจะเป็น แพ็คเกจ 15 วินาที ต่อชั่วโมง ราคา 150,000 บาท จะออกอากาศให้ทุกจอ ในทุกๆ ชั่วโมงตามเวลาทำการของห้างรวม 14 ครั้ง ต่อวันแบ่งการออกอากาศเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 9.00 – 10.00 น.

แพ็คเกจ 5 นาทีต่อชั่วโมง ราคา 150,000 บาท ออกอากาศคอนเทนท์ให้ทุกจอเป็นเวลา 5 นาที ตั้งแต่ 9.00 – 10.00 น.ของทุกวัน รวม 1 ครั้งต่อวัน, แพ็คเกจ 5 นาทีต่อชั่วโมง ราคา 400,000 บาท ออกอากาศทุกจอเป็นเวลา 5 นาทีในช่วง 10.00 – 16.00 น.ของทุกวัน รวม 6 ครั้งต่อวัน

แพ็คเกจ 5 นาทีต่อชั่วโมง ราคา 550,000 บาท ออกอากาศให้ทุกจอเป็นเวลา 5 นาทีในช่วง 16.00 – 23.00 น. ของทุกวัน รวม 7 ครั้งต่อวัน

‘รายได้ที่ไอเน็ต จะได้จากบริการนี้ คือ ค่าแอร์ไทม์ ไอเน็ตเป็นเหมือนเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่ให้เช่าแอร์ไทม์ที่ลูกค้าต้องการในแต่ละช่วงเวลา’

อนุรักษ์ บอกว่า โครงการ ‘โลตัส ทีวี’ ไอเน็ตลงทุนไปเป็นหลักร้อยล้านบาท ถือเป็นช่วงการเรียนรู้ของเทคโนโลยีประมาณไม่เกินเดือนหน้า ไอเน็ตเตรียมที่จะเปิดตัวรูปแบบบริการใหม่ๆ เป็นมุมมองใหม่ที่ไอเน็ตจะเข้า join ในฝั่งของดิจิทัล มีเดียมากขึ้น

‘พูดง่ายๆ คือ ไอเน็ตจะไม่หยุดงานเราแค่ที่เทสโก้ โลตัส เราจะเริ่มสอดแทรกไปที่อื่นๆ อาจจะไปร่วมกับเขาบ้าง หรือ ไปเป็นเจ้าของเองบ้าง ปีหน้าเมืองไทยจะมีแต่คำว่า ดิจิทัล มีเดีย ปัจจุบัน ไอเน็ตไม่ได้ทำงานแข่งกับไอเอสพีอย่างเดียวแล้ว เราอาจต้องทำงานแข่งกับ สถานีทีวี ก็ได้ เป็นการสร้างมูลค่าของตัวธุรกิจเราขึ้นมาเอง’

อนุรักษ์ บอกว่า หากพูดถึงมูลค่าดิจิทัล มีเดีย ตอนนี้ยังน้อยมากอยู่แค่หลักร้อยล้าน ตลาดรวมของโฆษณาบ้านเราประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เราก็ประมาณกันว่า ตัวเลขใน 3 ปีถัดจากนี้ จะพุ่งเป็นหลักพันล้านแน่นอน โดยจำนวนสกรีน หรือดิสเพลย์ ที่จะเป็นเครื่องมือของการโฆษณารูปแบบใหม่จะเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า อาจถึงหลักพันดิสเพลย์ และเชื่อว่า ราวปี 2007 ดิจิทัล มีเดียจะโตสูงสุด

‘ต่อไปธุรกิจ ดิจิทัล มีเดีย ของไอเน็ตจะหาบริษัทร่วมทุนเข้ามาดูแล มาโปรโมท ไอเน็ตจะเป็นเพียงแค่คนโพรวายด์เทคโนโลยีเท่านั้น รายได้ของธุรกิจดิจิทัล มีเดียจะมีถึงหลัก 100 ล้านในอีก 2 ปีข้างหน้า สัดส่วนของธุรกิจในไอเน็จ จะแบ่งเป็น อินเทอร์เน็ต 55% นอนอินเทอร์เน็ต (Non Internet) 45% ซึ่งในส่วนนี้แบ่งเป็นส่วนดิจิทัล มีเดียที่ขณะนี้แม้ยังมีสัดส่วนอยู่แค่ 5% แต่ในปี 49 ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หลักอย่างแน่นอน’ อนุรักษ์กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ BizWeek โดย เอกรัตน์ สาธุธรรม

*************

เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20111105142423/http://www.thinkandclick.com/emarketing/intelligence-media-inet.php )

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *