รายงานของหนังสือพิมพ์ลอสแองเจอลิสไทมส์ ประจำวันอังคาร (23) ตามเวลาในสหรัฐฯ ระบุว่ากูเกิลกำลังเตรียมการเปิดตัวระบบโปรแกรมสนทนาหรือโปรแกรมไอเอ็ม (instant messaging) ของตัวเอง ล่าสุดเป็นไปตามคาด กูเกิลเปิดทดลองใช้งานโปรแกรมสนทนาสำหรับสมาชิกอีเมลไปแล้วในขณะนี้ ถือเป็นการขยายบทบาทจากผู้นำด้านเสิร์ชเอนจินมาสู่วงการโปรแกรมแชต ซึ่งถูกชี้ชัดว่าจะเป็นการให้บริการสนทนาด้วยข้อความพร้อมเสียง
โปรแกรมสนทนาด้วยข้อความของกูเกิล ( Google) มีชื่อว่า “กูเกิลทอล์ก ( Google Talk)” ถูกเปิดตัวในวันพุธตามเวลาสหรัฐฯ เป็นไปตามรายงานของลอสแองเจอลิสไทมส์ ซึ่งอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในกูเกิล (Google) ไม่ระบุนาม
โดยบริการกูเกิลทอล์ก กูเกิลนั้นเปิดให้ผู้ที่เป็นสมาชิกของจีเมล ( GMail) เท่านั้นที่สามารถทดลองใช้งานได้ ยังไม่มีรายงานกำหนดการออกเวอร์ชันเต็มในขณะนี้ แต่เมื่อสอบถามไปยังประชาสัมพันธ์ของกูเกิล ต่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับกรณีข่าวแผนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของกูเกิลรั่วไหลเช่นนี้ ตามการรายงานของรอยเตอร์ส
แข่งกับบริการโทรศัพท์ผ่านเน็ต
เรื่องนี้เป็นจริงตามที่ลอสแองเจลิสไทมส์รายงาน บริการสนทนาด้วยข้อความพร้อมเสียงที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตอย่าง “สไคป ( Skype)” ตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากรูปแบบเทคโนโลยีที่แตกต่างจากกลุ่มผู้ให้บริการสนทนาผ่านอินเทอร์เน็ตทั่วไป
เรื่องนี้มาจากนักข่าวอิสระรายหนึ่งชื่อ ออม มาลิก ( Om Malik) ได้กล่าวไว้ในบล็อกของเขาที่ http://gigaom.com/ อ้างว่ากูเกิลกำลังเตรียมการเพื่อให้บริการสนทนาด้วยข้อความพร้อมเสียงนี้บนเทคโนโลยีโอเพนซอร์สที่รู้จักกันในนาม แจบเบอร์ ( Jabber)
Jabber เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้ผู้ใช้โปรแกรมสนทนาของกูเกิลสามารถติดต่อกับระบบโปรแกรมสนทนาอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีแจบเบอร์เช่นกัน อย่างเช่นบริการไอซีคิว ( ICQ) ของเอโอแอล ( America Online) และโปรแกรมไอแชต ( iChat) ของแอปเปิลฯ ( Apple Computer Inc.)
“นี่ถือเป็นข่าวร้ายของผู้ที่อยู่ในตลาดมาก่อนอย่างสไคป เพราะจะต้องสู้ศึกกับยักษ์ใหญ่สามค่าย ไม่ใช่กับเฉพาะกูเกิลเพียงค่ายเดียว” มาลิกเขียนถึงผลจากการที่บริการสนทนาของกูเกิลไม่รองรับโปรแกรมสนทนาของสไคป โดยมองว่า บริการสนทนาน้องใหม่ที่เกิดขึ้นนี้อาจจะสามารถบุกรุกตลาดโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีกลุ่มสมาชิกจำนวนหลายล้านคน ให้เปลี่ยนใจมาเป็นสมาชิกของกูเกิลได้
แน่นอนที่สุด บริการสนทนาที่กูเกิลส่งวางตลาดนั้นจะเป็นหมัดเด็ดต่อสู้กับคู่แข่งตลอดกาลอย่างยาฮู ( Yahoo Inc.) ไมโครซอฟท์ ( Microsoft Corp.) และเอโอแอลในการปกครองของไทม์วอร์เนอร์ ( Time Warner Inc.) ด้วย ซึ่งต่างก็มีการปรับปรุงบริการสนทนาด้วยการเพิ่มการสื่อสารด้วยเสียง หรือบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของกูเกิลถูกมองว่าเป็นการฝังรากฐานจากการเป็นเว็บไซต์สืบค้นข้อมูล เพื่อเป็นบริษัทมีเดียบนอินเทอร์เน็ตระดับโลก
เอโอแอลซึ่งให้บริการโปรแกรมสนทนาในชื่อเอไอเอ็ม ( AIM) และไอซีคิว ( ICQ) ต่างมีผู้ใช้บริการราว 40 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ยาฮูแมสเซนเจอร์มีจำนวน 20 ล้านคน และเอ็มเอสเอ็นแมสเซนเจอร์ ( MSN Messenger) ของไมโครซอฟท์มีราว 14 ล้านคน ตามข้อมูลการสำรวจล่าสุดของบริษัทคอมสกอร์มีเดียเมทริก ( comScore Media Metrix)
โดยผู้ที่นิยมใช้บริการสื่อสารด้วยเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของสไคปนั้นมีจำนวนรวมหลายสิบล้านราย ซึ่งกลุ่มตลาดส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศแถบยุโรป
ล่าสุดเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ กูเกิลนั้นออกมาประกาศการแตกสายบริการสืบค้นข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้สามารถจัดการหรือสืบหาข้อมูลส่วนตัวทั้งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ข้อความในโปรแกรมสนทนา หัวข้อข่าว และเพลง โดยเรียกโปรแกรมสืบค้นใหม่นี้ว่ากูเกิลไซด์บาร์ ( Google Sidebar) โปรแกรมซอฟต์แวร์แบบสแตนด์อะโลนทำงานด้วยตัวเอง ซึ่งจะถูกติดตั้งลงบนหน้าจอเดสก์ท็อปของผู้ใช้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อัปเดตทันเหตุการณ์
นี่ถือเป็นเพียงส่วนเดียวของการขยายบริการในชื่อกูเกิลเมื่อช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบริการฟรีอีเมล บริการแผนที่ออนไลน์ บริการข่าวสาร และบริการอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน สมาชิกจีเมลที่สนใจสามารถเข้าใช้บริการได้ที่ http://www.google.com/talk
จาก ผู้จัดการรายสัปดาห์ วันที่ 24 สิงหาคม 2548
********************
เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20081121114620/http://www.thinkandclick.com/news/news082405googletalk.php )