Wi-Fi Phone โทรศัพท์ที่ถูกแบนจากผู้ให้บริการ

อีกไม่นานเราจะได้ทราบกันเสียทีว่า ธุรกิจโทรศัพท์มือถือมูลค่านับหมื่นนับแสนล้านที่เหล่าผู้บริโภคต้องทนจ่ายเงินเพื่อแลกกับการติดต่อสื่อสารชนิด ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง บิลค่าบริการตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง พนักงานบริการหน้าเหมือนม้าหมากรุก ฯลฯ และอีกสารพัดปัญหา จะมาตกม้าตายกับเครื่องลูกข่ายยุคใหม่อย่าง Wi-Fi Phone หรือไม่

เพราะว่าจากงานมหกรรมแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ CES ซึ่งจัดขึ้นที่ลาสเวกัสได้มีการเปิดตัว Wi-Fi Phone กันหลายรุ่น จากผู้ผลิตค่ายต่าง ๆ Wi-Fi Phone คือโทรศัพท์มือถือที่สามารถรองรับสัญญาณได้แบบดูอัลโหมด ทั้งระบบจีเอสเอ็ม (GSM) และเครือข่าย Wi-Fi ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ค่าบริการของเครือข่าย Wi-Fi ซึ่งก็คืออินเทอร์เน็ตไร้สายนั้นถูกกว่าการใช้บนเครือข่ายจีเอสเอ็ม ดังนั้นมันจึงสามารถลดค่าใช้บริการมือถือในแต่ละเดือนของผู้ใช้ลงได้เป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน เครือข่ายจีเอสเอ็มมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในทวีปยุโรป และเอเชีย ส่วนในสหรัฐอเมริกา จีเอสเอ็มก็ถือเป็นเครือข่ายหนึ่งที่มีการให้บริการเช่นกัน

โทรศัพท์ที่รองรับเทคโนโลยี VoIP ไม่ถือเป็นสิ่งใหม่แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้ ได้มีการเปิดตัวโทรศัพท์พื้นฐานที่สามารถรองรับ VoIP ได้แล้วตั้งแต่ปี 2004 แต่เป็นโทรศัพท์ที่เน้นสำหรับใช้งานตามบ้านมากกว่าจะออกมาเพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น เมื่อมีการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ๆ ที่รองรับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย จึงน่าจะเชื่อได้ว่า ยุค VoIP ใกล้มาถึงแล้ว

ค่าบริการเพื่อผู้บริโภค ?

แม้ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ส่วนมาก มักมีธรรมเนียมการลดราคาค่าบริการเพื่อแข่งขันกันอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นการลดราคาเพื่อกำไรสูงสุดขององค์กรอยู่ดี อีกทั้งนโยบายก็ยังยึดผลตอบแทนเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่มีคำว่า ประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคเข้ามาให้ได้ยินอย่างแน่นอน การมาถึงของเครือข่าย VoIP นี้ จึงอาจกลายเป็นภัยร้ายที่รับมือยากไปในที่สุด

การปิดกั้น ไม่จำหน่ายเครื่องลูกข่ายที่รองรับระบบ VoIP เป็นอีกทางหนึ่งที่อาจถูกนำมาใช้กับการหาทางรอดให้กับธุรกิจของผู้ให้บริการ

ผู้สื่อข่าวจากพีซีเวิลด์ได้เปิดเผยถึงคำสัมภาษณ์ของ มร.โฮเวิร์ด ฟริสช์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ของบริษัท UTStarcom ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่รองรับทั้งระบบ GSM และ VoIP ว่า โทรศัพท์มือถือที่ทางค่ายพัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อรุ่น GF200 นั้นอาจไม่ได้รับความสนใจจากค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายในสหรัฐอเมริกาอย่างเวอริซอน เนื่องจากค่ายมือถือเองคงต้องทำทุกทางเพื่อให้รายได้ของตนนั้นเพิ่มขึ้น และคงไม่ใช่การจำหน่ายโทรศัพท์ที่สามารถลดทอนกำไรของตนเองให้กับผู้บริโภคอย่างแน่นอน

เขากล่าวเสริมว่า ภูมิภาคที่จะได้ทำตลาดโทรศัพท์ VoIP อย่างเป็นทางการคือสหภาพยุโรป เนื่องจากผู้บริโภคมักหาซื้อเครื่องเอง จากนั้นจึงนำซิมการ์ดมาใส่ ต่างจากในสหรัฐอเมริกา ที่มักซื้อเครื่องพร้อมหมายเลข แต่สำหรับผู้บริโภคชาวสหรัฐที่ต้องการทางเลือก มร.ฟริสช์กล่าวว่า สามารถหาซื้อตัวเครื่องได้ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่คงไม่สามารถนำไปใช้ร่วมกับค่ายผู้ให้บริการใด ๆ ได้ และคงต้องไปลงทะเบียนใช้งานกับบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตแทน

นอกจากโทรศัพท์ดูอัลโหมดในระบบ GSM/Wi-Fi แล้ว ทางบริษัทมีแผนพัฒนาในระบบอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ CDMA/Wi-Fi Phone

ส่วนผู้ที่ยังไม่เห็นภาพ เราขอนำการคำนวณค่าบริการโทรศัพท์มือถือบนระบบ VoIP ของค่าย Vonage ผู้ให้บริการรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ใช้บริการสามารถโทรศัพท์สายตรงจากสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศญี่ปุ่นผ่านเครือข่าย VoIP นาทีละ 5 เซ็นต์ (ประมาณ 2.07 บาท) หรือโทรไปอังกฤษ นาทีละ 3 เซ็นต์เท่านั้น (1.24 บาท)

เม็ดเงินดังกล่าว สร้างความเสียหายแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในขณะนี้เป็นจำนวนเท่าใด ยากจะระบุได้

Updated 11 ม.ค. 2549 – โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 มกราคม 2549

 

******.

เรื่องเก่าจากเว็บไซต์ของครูบอย – thinkandclick dot com (ย้อนดู ต้นฉบับ > https://web.archive.org/web/20100327185003/http://www.thinkandclick.com/news/wi-fi-phone.php )

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *